Evolution of Thailand’s lure maker
ภูมิใจ…..เหยื่อคนไทย ตอนที่ 1
การทำเหยื่อบ้านเรานั้น(พ.ศ.2552) ในเรื่องรูปทรงการทำเหยื่อจากที่ว่า คิดไม่ออกต้องทำกบกระโดดไว้ก่อน เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในเรื่องหนึ่งที่ควรหยิบยกมาพูดถึง นั่นคือ การอิ่มตัวในเรื่องการออกแบบรูปทรงของเหยื่อ ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2ประเภท นั่นคือ 1 เหยื่อที่เหมือนธรรมชาติ 2 เหยื่อตามจินตนาการ จากวันที่มีเหยื่อกบกระโดดเกิดขึ้นจนวันนี้ น่าจะมีสำนักเหยื่อปลอมไม่ต่ำ 100 สำนัก ได้พยายามคิดค้นในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา จะเป็นตัวอะไรที่กระโดดได้โดนมาขึ้นแบบหมดหมด ยกเว้นจิงโจ้ หรืออะไรที่เป็นครึ่งบอกครึ่งน้ำมีเกล็ดไม่มีรอดสายตา ในที่สุดรูปแบบเหยื่อ ก็จะเริ่มซ้ำแบบกัน และถึงทางตันในเรื่องลวดลาย หนังสือรวบรวมสายพันธุ์กบทั่วโลก(มีขายตามซีเอ็ด และหนังสือทั่วไป) ที่มีลวดลายแปลกๆ ต่างถูกนำมาใส่นำตัวกบให้เลือกใช้กัน เหยื่อกบกระโดดบ้านเราที่มีมูลค่าสูงสุดในกระบวนเหยื่อแฮนด์เมดเมืองไทย ในช่วงนี้ยอดขายยังดีเหมือนเดิม เพียงแต่ ไม่ได้หวือหวาดั่งเช่นหลายปีก่อนหน้านี้เท่านั้นเอง
และก็เป็นปลากะพงขาว ที่ช่วยเข้ามาต่อยอดให้กับสำนักทำเหยื่อ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา มีเหยื่อ สวิมเบท 1ท่อน 2 ท่อน 3ท่อนที่ถูกนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ที่สำคัญปลากะพงกินเหยื่อตัวนี้อย่างดีมาก จึงทำให้เหยื่อตัวนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่สุด เหยื่อที่จะกล่าวถึงคือ เหยื่อที่มีชื่อเรียกตามรุ่นว่า กีร่อน 2 ท่อน เบบี้กีร่อนและเรียลไรเซ่อร์ ลายลูกปลาเหยื่อตามบ่อกะพงเมืองไทย ด้วยราคาค่าตัวเหยื่อ ราคาตัวละเกือบหนึ่งพันบาท ได้เข้ามาทำตลาดเมืองไทยได้อย่างดีเยี่ยม เหยื่อในรูปทรงดังกล่าวจึงถูกนักตกปลาบ้านเรา นำมาเป็นต้นแบบในการประดิษฐ์ใช้เองอย่างแพร่หลาย
นับช่วงเวลาปัจจุบัน นักตกปลาบ้านเรามีการทำเหยื่อในรูปทรงปลานิล 2 ท่อน หรือเหยื่อ 1 ท่อน วางห่วงหน้า ขึ้นอย่างมากมาย ทำให้กระแสการทำเหยื่อทรงเหมือนราพาล่า ริสโต้ แฟตแรป ป็อปเปอร์ ลดน้อยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการหล่อเรซิ่น หรือการขึ้นรูปด้วยไม้ รวมถึงมีการประดิษฐ์ลิ้นเหยื่อปลอมใช้เองจากแผ่นอะคริลิค ทำให้รู้สึกได้เลยว่า วงการเหยื่อปลอมบ้านเรา นับวันยิ่งมีการพัฒนายิ่งขึ้น
วัสดุทำเหยื่อ
เพราะจากเดิม มีคนอยากก้าวเข้ามาสู่อาชีพนี้มากจนแทบจะนับไม่ถ้วน และรูปลักษณ์ของเหยื่อปลอมที่ง่ายที่สุดนั่นก็คือ การนำเศษไม้มาเหลาเป็นกบกระโดด บางท่านมีฝีมือทางช่างก็จะเริ่มทำงานได้ง่าย เพราะเหตุใด เหยื่อกบไทยที่ดีที่สุดจึงต้องเป็นไม้โมกมัน ไม้สัก นั่นก็เพราะว่า คนไทยที่เริ่มผลิตเหยื่อปลอมในสมัยก่อน เริ่มนับหนึ่งจากวัสดุใกล้ตัวที่ราคาไม่แพงมาก แต่มีความทนทาน นั่นก็คือไม้ดังกล่าว ในเมืองไทย การบุกเบิกทำอะไรก่อนมักได้รับการยกย่อง แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องการถูก ถอดแบบงาน และการจำกัดในเรื่องแรงงานต่อชิ้นงานต่อวัน
เมื่อมาตรฐานที่ถูกวางไว้ในบางครั้งถูกจำกัดด้วยวัสดุ เพราะเราไม่มีการวางสายการผลิตในเรื่องวัตถุดิบในขั้นต้นเช่น ขนาดของไม้ที่มาทำ ความชื้นของชิ้นไม้ และจำนวนของไม้ที่ต้องการไม่ต่อเนื่อง ทำให้การเปลี่ยนแปลงเรื่องวัตถุดิบก็เกิดขึ้นจากสารที่เรียกว่าเรซิ่น และโฟมฉีด อันว่าเรซิ่นนั้นมันก็เหมือนปูนปลาสเตอร์ที่เรารู้จักกัน แต่คุณสมบัติมากกว่านั้น คือเซ็ทการแข็งตัวของสารได้ตามเวลาที่เราต้องการ ด้วยผสมสารเคมีลงไปอีกตัวหนึ่ง ด้วยคุณสมบัติที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บสินค้าคงคลัง ราคาที่ถูก การเปลี่ยนชิ้นงานได้ตามต้องการ แล้วแต่แม่พิมพ์(ราคาถูก)ที่เราสร้างขึ้น แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิตเหยื่อ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญมากที่สุดในการผลิตก็คือ จะทำอย่างไรให้เรซินมันลอยน้ำได้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ความลำบากแต่อย่างใดของนักวิทยาศาสตร์ เพราะสารอีกตัวที่ทำให้ลอยน้ำได้เมื่อผสมกับเรซิน ที่เรียกว่า ไมโครบัลลูน ได้ถูกคิดค้นและส่งมาเป็นข้อมูลให้กับผู้ผลิตเหยื่อ
ยุคเริ่มแรก การลองผิดลองถูกได้เกิดขึ้นกับผู้ผลิตเหยื่อ แต่ มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะสัดส่วนในการผสมสารแต่ละตัวลงไปไม่ได้ง่าย แต่ในเมื่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ จึงมีเหยื่อเรซิ่นคนไทยที่เป็นรุ่นทดลอง ถูกส่งออกมาขาย และมีอาการที่เรียกว่า เนื้อตัวเรซิ่นยังไม่เซ็ท หรือข้างในเรซินมีฟองมีรูพรุนเยอะ เหยื่อที่วางขายดังกล่าวบางรุ่นจึง จมดิ่งลงน้ำ เปราะและแตกได้ง่าย ทำให้นักตกปลาหลายท่านที่เคยได้ใช้ หันกลับไปใช้เหยื่อไม้ เพราะไม้ใไม่มีการหัก ไม่มีการจน้ำ แล้วไม้จะขึ้นน้ำเร็วกว่าเรซิ่น และลอยน้ำแน่นอน
ปัจจุบันไม้เริ่มหายากขึ้นในบางพื้นที่ และร้านขายเคมีภัณฑ์จำพวกเรซิน เริ่มมีการขยายตัวออกไปเปิดร้านตามต่างจังหวัดกันมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่ใน กทม อีกต่อไป ส่วนสำหรับท่านที่ต้องการวัสดุมาทำเหยื่อชนิดใด จากคำแนะนำ ให้ไปคุยกับคนขาย และแจ้งความจำนงไปว่าเราต้องการชิ้นงานแบบใด
เหยื่อปลอมนั้นทำไม่ยากถ้าคิดจะลอง และสำหรับคนที่สนใจอยากจะลองทำเหยื่อเรซิ่น ผู้เขียนขอนำเสนอวัสดุ อุปกรณ์ ราคาเงินที่ลงทุน วิธีทำเบื้องต้นเพื่อตัดสินใจว่าอยากจะลองหรือไม่ดังนี้
1 เรซิ่นหล่อทั่วไป(ผสมม่วงแล้ว) 1 กก. / 110 บาท hardener 1 ขวด 10 บาท วาสลีน 1 กป. 50 บาท อะซิโตน 1 ล. 100 บาท ผงทัลคัม 0.5 กก. 10 บาท สีเหลือง แดง น้ำเงิน 1 กระปุก 180 บาท ดินน้ำมัน 2 ก้อน 20 บาท ปูนปลาสเตอร์ 1 กก. 10 บาท ซิลิโคนไต้หวัน 0.50 กก. 300 บาท พู่กัน เบอร์ 20 50 บาท ผ้าปิกจมูก 20 บาท ถุงมือ 25 บาท ถ้วยผสมเรซิ่น 20 บาท ไม้คน 10 บ.หลอดฉีดยา 50 บ. รวมค่าของเบ็ดเสร็จไม่ถึง 1000 บาท แต่ถ้าอันไหนเรามีอยู่แล้วไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงินเพิ่ม ประหยัดได้ก็ประหยัดไว้ก่อน
การทำแม่พิมพ์
- เหยื่อต้นแบบที่ต้องการทำ 2. ยางซิลิโคน 3. ฮาร์ดเดนเนอร์ 4. แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด 5. ดินน้ำมัน 6. ปูนพลาสเตอร์ 7. น้ำสะอาด
อุปกรณ์
- ปืนกาว 2. พู่กัน เบอร์ 4 ต้องใช้ 2 ด้าม ด้ามแรกสำหรับทา วาสลีน อีกด้ามสำหรับเกลี่ยยางซิลิโคน 3. ไม้จิ้มฟัน 4. ไม้ไอศครีม ใช้กวนซิลิโคนกับตัวทำแข็งให้เข้ากัน
วิธีทำ
- นำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมาตัดเพื่อเตรียมทำเป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ขนาด 10 x 10 เซนติเมตร (สี่เหลี่ยมตรงกลาง) แล้วตัดส่วนด้านข้างกว้าง 3 เซนติเมตร ขนาด 3 x10 เซ็นติเมตร 2 ชิ้น 3 x 8 เซ็นติเมตร 2 ชิ้น เพื่อเตรียมปิดล้อมด้านทั้งสี่
- ติดเหยื่อต้นแบบกับฟิวเจอร์บอร์ดโดยใช้ปืนยิงกาว ถ้าไม่มีก็หากาวอะไรก็ตามยึดให้เหยื่อติดแน่นกับพื้นอย่าให้ขยับเวลาทำงานจากนั้นนำดินน้ำมันกับฟิวเจอร์บอร์ดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามากั้นทำกำแพงทั้งสี่ด้าน และใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นเส้นอุดรอบๆฐานเหยื่อด้วย
- ทาวาสลีน ให้ทั่วตัวแบบ พื้นและกำแพงภายในช่องสี่เหลี่ยม อย่าให้วาสลีนเป็นก้อน
- นำยางซิลิโคนที่เตรียมไว้มาเทลงในภาชนะ งานเล็กแบบนี้เทประมาณ 20 – 25 กรัมต่อครั้ง
- ผสมตัวทำแข็งหรือฮาร์ดเดนเนอร์ ประมาณ2 – 10 % ของน้ำหนักซิลิโคนที่เทลงในภาชนะ ซื้อซิลิโคนมาแต่ละครั้งใช้ฮาร์ดเดนเนอร์ไม่เท่ากันครับ อันนี้ต้องลอง เช่น เราหยด 30 หยด ซิลิโคนแข็งตัวใช้เวลา 15 นาที พอเราไปซื้อซิลิโคนมาใหม่ พอเราผสมใหม่แล้วหยด 30 หยดเท่ากัน กว่าจะแข็งอาจใช้เวลาน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น เทแล้วใช้ไม้ไอศกรีมกวนเบาๆให้ทั่ว
- จากนั้นก็เทลงบนตัวเหยื่อ ซิลิโคนจะไหลย้อยลงมาด้านล่างให้คอยใช้พู่กันตักขึ้นไปไว้ที่จุดสูงสุดตลอดเวลา ระหว่างนั้นใช้ไม้จิ้มฟันคอยเขี่ยฟองให้แตก อย่าให้มีฟองเหลือนะครับ ทำอย่างนี้จนซิลิโคนหยุดไหล
- ผสมซิลิโคนแล้วเทแบบนี้ 3 ชั้น ก่อนจะเทใหม่แต่ละชั้นต้องรอให้ซิลิโคนแข็งตัว จึงจะเทชั้นต่อไปได้
- เสร็จแล้วผสมปูนพลาสเตอร์ อัตราส่วน 1:1 เทลงให้ท่วมจุดที่สูงสุดของหอยขึ้นมาให้หนาประมาณ 1 เซ็นติเมตรหรือมากกว่า อย่าบางนักจะไม่แข็งแรง ปล่อยทิ้งไว้พอแห้งหมาดๆหาบัตรพลาสติกที่ไม่ได้ใช้แล้ว ปาดแต่งด้านบนให้ดูเรียบร้อย ทิ้งไว้ค้างคืนเพื่อให้เซ็ทตัว
- ทิ้งไว้ค้างคืนแห้งสนิท
- แกะออกมาได้เลย
- ถอดส่วนปูนพลาสเตอร์ออกแล้วแกะ
- ค่อยๆถลกออกมาช้าๆ ในส่วยนี้ ถ้าทาวาสลีนไว้จะถอดง่าย
- ถ้าเอาต้นแบบใส่ไว้ก็จะพอดี
- พิมพ์ยางจะมีลักษณะนิ่มๆ
- เสร็จแล้ว เวลาเก็บให้วางพิมพ์ยางไว้ในปูนพลาสเตอร์เสมอ ไม่ควรวางตากแดดหรือใกล้ที่ๆ มีความร้อน เพราะจะทำให้พิมพ์บิดเบี้ยวไป
การหล่อเรซิ่น
1.พิมพ์ยางหรือแม่พิมพ์ 2.น้ำยาเรซิ่นแบบใส 3.ฮาร์ดเดนเนอร์ สำหรับเรซิ่น 4.วาสลีน (สำหรับเหยื่อปลาปลอม) ถ้าต้องการให้เหยื่อลอยน้ำ ต้องเพิ่ม 5 ไมโครบัลลูน(ย้ำว่าคนละชนิดกับผงเบา) 6 สไตรีนโมโนเมอร์ 7 อะซีโทน
อุปกรณ์
1.ถุงมือ 2.ผ้าปิดจมูก 3.เครื่องมอเตอร์หินเจียร์ ด้านหนึ่งเป็นหินขัด อีกด้านเป็นผ้าปัดเงา 4.ถ้วยหรือถาชนะสำหรับผสมเรซิ่น 5.ไม้สำหรับคนเรซิ่น
วิธีทำ
- ใช้วาสลีนทาลงบนพิมพ์ให้ทั่ว ตอนแกะออกจะได้ง่าย นำน้ำยาเรซิ่นเทลงในภาชนะเช่น ถ้วยพลาสติกเล็กๆปริมาณเท่ากับที่จะใช้ หยดฮาร์ดเดนเนอร์ลงไปประมาณ 1-2 เปอร์เซนต์ของปริมาณเรซิ่น ใช้ไม้กวนเบาๆให้เข้ากัน เทลงพิมพ์แล้วปล่อยทิ้งไว้
- พอเรซิ่นแข็งตัวดีแล้วก็แกะออกมา นำมาขัดตกแต่งส่วนที่ไม่เรียบร้อยตามขอบ มุม โดยใช้มอเตอร์หินเจียร์ แล้วปัดให้ใสด้วยผ้าปัด แล้วตามด้วยกระดาษทรายขัด
ถนัดอย่างไรทำอย่างนั้น หากเพื่อนๆหลายๆ ท่าน อยู่ในแหล่งพื้นที่ๆไม่มีปลาล่าเหยื่อที่กล่าวมา ได้อ่านบทความนี้จบจบ แต่รู้สึกได้ว่าไม่มีปลาล่าเหยื่อชนิดนั้น ชนิดนี้อยู่ใกล้บ้าน ก็ให้ทำเหยื่อในรูปแบบที่ใช้งานได้จริงจะเหมาะสมกว่า เพราะเหยื่อที่ได้ผลนั้น คือเหยื่อที่ทำอออกมา ผ่านการทดลอง ทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้ผลจริง
Credit : Tui A.D