เรื่อง Rod .. How to ว่าด้วยเรื่องคันเบ็ดล้วนๆ ตอนที่ 1


หากเรานึกถึงการออกไปตกปลาแต่ละครั้งนั้น อุปกรณ์ตกปลาแต่ละชนิดที่เรานำประกอบรวมจะมีความสำคัญ เท่าๆ กันทุกชิ้น และอุปกรณ์ที่จะว่ากันในวันนี้ ถือว่ามีสิ่งสำคัญและต้องให้ความละเอียดในการเลือกซื้อเป็นอันดับแรกนั่นคือ คันเบ็ด

ปัจจุบัน เรื่องของการเลือกซื้อคันเบ็ดดูแล้วจะได้รับความแพร่หลายเป็นอย่างมากในบ้านเรา ทั้งๆที่คันสำเร็จรูป มีการผลิตออกมาหลากหลายยี่ห้อ หลายแอคชั่น ส่วนขนาดและความยาวนั้นมีมากจนที่จะเลือกหามาใช้งานได้หมด

คันเบ็ดที่มียี่ห้อชื่อดังนั้น จะเลือกใส่อุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงสุดลงไปเท่าที่ใส่ลงไปได้ ในคันระดับท็อป และมีการลดหลั่นทั้งราคา ส่วนประกอบอื่นๆ ลงมา เป็นรุ่นระดับกลางเพื่อให้คนที่ชื่นชอบในตัวยี่ห้อเหล่านี้สามารถซื้อหาจับต้องได้ หรือจะเป็นคันยี่ห้อตลาดที่คุณภาพปานกลาง แต่ใช้งานได้จริง ทุกวันนี้ก็สามารถเลือกหาตามร้านอุปกรณ์ตกปลาตามร้านตกปลาทั่วไปในบ้านเราได้ไม่ยาก

คันเบ็ดที่เหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร ? และเพราะอะไรเราถึงมีความต้องการ และไม่พึงพอใจในคันที่มียี่ห้อเหล่านี้ จนถึงขั้นต้องสั่งทำหรือจ้างบิวท์คันขึ้นมาใช้เอง ?

จากหลายปีที่ผ่านมา นักตกปลาในบ้านเรานั้นมีความโชคดีเป็นอย่างมาก หากเทียบกับสมัยก่อนในช่วงปี 2518-2525 เพราะตัวเลือก มีให้ไม่มากนัก ที่มีวางขายก็คือนักตกปลาสมัยนั้นต้องใช้คันเบ็ดที่มีความเหมาะสมกับปลาในแหล่งน้ำนั้น รวมทั้งพฤติกรรมของนักตกปลา ตามประเทศต่างๆที่วิศวะกร บ. เหล่านั้นผลิตคิดค้นขึ้นมา

เวลาที่ผ่านไป นักตกปลาบ้านเราเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย วงการตกปลาบ้านเราถูกแยกประเภทในการออกตกปลาอย่างเป็นหมวดหมู่ และส่วนแบ่งทางการตลาดในเรื่องกีฬาตกปลาถูกมีส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนrid005

การที่มีตัวแทนผู้ค้าเพิ่มอย่างมากมาย รวมทั้ง การได้รับข่าวสารเพิ่มเติมจากทางหนังสือตกปลาหรือสื่อทางอินเทอร์เนท ทำให้มีการนำสินค้าเข้ามาให้นักตกปลาคนไทยเราได้จับจ่ายใช้สอยกันอย่างมากมาย และสินค้าเหล่านั้นก็เป็นการเลือกดูพฤติกรรมในการใช้งานของคนไทยเป็นหลัก ก่อนที่จะมีการนำสินค้าที่เหมาะสมและใช้งานได้จริง

ไม่ว่าจะเป็น คันเบ็ดที่เป็นชุด คอมโบเซ็ททั้งคันทั้งรอก ในราคาไม่เกิน 300 บาท จนกระทั่งคันเบ็ดคันเดียวคันละเกือบสองหมืนบาท ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

สิ่งเหล่านี้ เมื่อมีตัวแทนที่เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่า ต้องมีการนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเข้ามา และสิ่งเหล่านั้นก็คือ วัสดุที่นำมาประกอบคันเบ็ด

มูลค่าทางการตลาดถือว่ามองข้ามกันไม่ได้  ไม่ว่าจเป็นทางสยามซู กรุงธนสปอตร์ ที่บุกตลาดเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนถึงตอนนี้เมื่อเปิดดูแอทโฆษณาต่างๆ ตามหนังสือตกปลาจะพบว่ามีของอีกมากมายที่ถูกนำเข้ามา จะเป็นของที่มีคุณภาพสุดยอดจากประเทศผู้ผลิตโดยตรงเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือจะเป็นของที่ถูกผลิตจากประเทศไทย ประเทศจีน ซึ่งได้สิทธิ เป็น O.E.M. ได้ License ก็ถือว่าเป็นของคุณภาพได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาเรียบร้อย ก็ถูกนำเข้าถูกสั่งมาให้เลอกสรรตามร้านอุปกรณ์ทั่วไปแล้วเช่นกัน

ที่เกริ่นนำมาทั้งหมด เพราะผมมีบทความที่จะนำเสนอจากหนังสือ  Advanced Custom Rod  Building (แนวทางการสร้างคันเบ็ด) หนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการสร้างคันเบ็ดที่ได้รับการยอมรับ ที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยมาหลายครั้ง ถูกตีพิมพ์ตามหนังสือตกปลาจากนักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ซึ่งแล้วแต่ว่าจะแปลออกมาโดยมุ่งสื่อจุดใดเป็นหลัก

โดยในตัวหนังสือเล่มนี้นั้น มีหลายร้อยหน้าด้วยกัน ประกอบไปด้วยหัวข้อ

  1. The Blank
  2. Glues and Gluing
  3. Reel Seats
  4. Grips and Handles
  5. Handle Assemblies
  6. Guides
  7. Wraps and Wrapping Techniques
  8. Wrapping Finishes and Finishing  Techniques
  9. Tool

บทความที่จะผ่านตา ท่านผู้อ่านต่อไปนี้ เป็นการแปลและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เพื่อให้ได้สาระ ความรู้และมีแนวทาง  ก่อนจะเสียเงินซื้อคันเบ็ดครั้งต่อไป รวมทั้งสามารถอยู่ในวงสนทนากับกลุ่มตกปลาที่ใกล้ตัว สามารถเผยแพร่ต่อไปว่า ว่า เพราะอะไร ? ทำไม?  เหตุใด ? คันเบ็ดถึงมีคุณภาพและราคาแตกต่างกัน ซึ่งจุดประสงค์อาจจะต่างกับ ชื่อของหัวหนังสือ แนวทางการสร้างคันเบ็ด  แต่ ต่างกันที่จุดประสงค์การนำเสนอของแต่ละบุคคลเท่านั้นครับ

  • แนวทางการสร้างคันเบ็ด “แบลงค์”

คำที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า Modulus (โมดูลัส) คำนี้ถ้าจะอธิบายแบบง่ายๆ ก็หมายถึงความแข็งหรืออัตราการตอบโต้การงอตัวของใยแก้ว ปัจจุบันนี้มีแบลงค์ซึ่งใช้ใยไฟแก้วที่มีโมดูลัสสูงถึงกว่า 70 ล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว เมื่อดูที่ตัวเลขก็น่าทึ่ง แต่มันจะมีความหมายสำคัญอย่างไรสำหรับแบลงค์ทำคันเบ็ดบ้างละ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ณ ที่ระดับความแข็งหนึ่ง ยิ่งแบลงค์มีน้ำหนักเบาลงไปมากเท่า แบลงค์อันนั้นก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับและปลดปล่อยพลังงาน แบลงค์อันนี้จะแปรเปลี่ยนพลังงานที่ถูกใส่เข้าไปให้เป็นพลังในการเหวี่ยงเหยื่อและในขณะเดียวกันก็จะคืนตัวได้เร็วกว่าแบลงค์ที่มีความแข็งเท่ากันแต่น้ำหนักมากกว่า (มีแรงดีดมากขึ้น)

เพื่อที่จะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นก็อยากให้ลองนึกภาพถึงแผ่นกระดานสำหรับกระโดดน้ำตามสระว่ายน้ำ หากคุณไปกระโดดบนแผ่นกระดานนี้มันก็จะส่งตัวของคุณขึ้นไปในอากาศได้ในระดับหนึ่งแล้วตัวมันเองก็จะสั่นและแกว่งไกวอยู่ชั่วระยะเวลานึงก่อนจะหยุดนิ่ง คราวนี้ถ้าคุณลองเอาถุงทรายหนักสักยี่สิบกิโลไปผูกไว้ใต้แผ่นกระดานนี้แล้วลองกระโดดดูอีกครั้ง คราวนี้กระดานจะไม่ส่งคุณขึ้นไปในอากาศได้สูงเท่าเดิมและจะสั่นต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่าก่อนที่จะหยุดนิ่ง การที่คุณไปเพิ่มน้ำหนักให้แผ่นกระดานนี้คุณไม่ได้ไปทำให้มันแข็งขึ้น ความแข็งหรืออัตราตอบโต้การงอตัวก็ยังคงเดิมแต่คุณได้เพิ่มน้ำหนักให้มันเท่านั้น ผลก็คือแผ่นกระดานนี้มีประสิทธิภาพลดลง ในความหมายนี้ โมดูลัสจึงมีความสำคัญในการทำให้คันเบ็ดมีประสิทธิภาพดีขึ้นแต่เรื่องก็ยังไม่จบแค่นั้น

การนำเอากราไฟท์มาทำคันเบ็ดในยุคแรกๆ ทำให้เราสามารถลดน้ำหนักแบลงค์ลงได้อย่างมาก แบลงค์ที่ทำจากกราไฟท์จึงมีความแข็งที่สูงกว่าด้วยน้ำหนักที่เบากว่าวัสดุใยแก้วชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงสามารถเหวี่ยงเหยื่อได้ดีกว่า คืนตัวได้เร็วกว่าและไม่ทำให้นักตกปลาต้องอ่อนล้ามากนัก มันเป็นอุปกรณ์ตกปลาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่เนื่องจากกราไฟท์สามารถรับแรงกดได้ไม่ดีเท่าใยแก้วมันจึงไม่เหนียวเท่าและมักจะแตกหักง่ายกว่าคันเบ็ดไฟเบอร์ในยุคเดียวกัน ในยุคแรกๆ ของกราไฟท์ ปัญหาน่าปวดหัวก็คือการทำงานกับใยแก้วที่มีอัตราโมดูลัสสูงแต่ทนต่อแรงกดได้น้อย จริงๆ แล้วในยุคแรกๆ ของการผลิต เมื่อได้โมดูลัสสูงขึ้นการทนแรงกดก็มักจะต่ำลง

ต่อมาก็ได้มีการผลิตใยกราไฟท์ที่รู้จักกันในนาม IM6 ขึ้นมา นอกเหนือจากการมีโมดูลัสที่สูงกว่าใยแก้วในอดีต IM6 ก็ยังสามารถรับแรงกดได้สูงกว่า ดังนั้นผู้ผลิตจึงสามารถผลิตแบลงค์ที่แข็งขึ้นในน้ำหนักเท่าเดิมแถมยังเหนียวขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย หลังจาก IM6 ก็มีการผลิตเส้นใยอื่นๆ ที่มีอัตราโมดูลัสสูงขึ้นและรับแรงกดได้มากยิ่งขึ้น ยุคนั้นน่าจะถูกเรียกว่ายุค “สงครามโมดูลัส”  มันเป็นยุคที่บริษัททั้งหลายต่างก็พยายามที่จะผลิตแบลงค์ที่เบาลงและดีขึ้น พอผลิตออกมาได้ไม่นานก็จะมีบริษัทอื่นผลิตสิ่งที่ดีกว่าออกมาอีก ยุคนี้เป็นยุคที่ได้มีการผลิตแบลงค์ที่มีกำลังดี น้ำหนักเบาและแข็งแรงขึ้นมามากมาย แต่ก็ยังมีนักสร้างคันเบ็ดมากมายที่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่

การผลิตแบลงค์ให้มีน้ำหนักเบาเป็นจุดสำคัญในการทำให้ได้แบลงค์ที่ทำงานได้ดี แต่การจะสักแต่ทำให้แบลงค์เบาลงก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าแบลงค์ที่ได้จะเป็นแบลงค์ที่ดี ผู้ออกแบบและผลิตแบลงค์ที่ดีจะต้องมีการผสมผสานคุณสมบัติrod008ต่างๆ ในการผลิตสินค้าที่จะให้ตกปลาได้ดี แบลงค์ที่เบาที่สุดจะไม่มีความหมายใดๆ หากไม่สามารถทนทานต่อการใช้งานตามสภาพการตกปลา ในขณะเดียวกัน แบลงค์ที่ไม่แตกหักยากก็มักจะมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ใครจะไปฝืนทนใช้มัน ดังนั้นผู้ผลิตแบลงค์ต่างๆ จึงต้องมุ่งที่จะผลิตแบลงค์ที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้และยังคงความแข็งแรงทนทาน ถึงตรงนี้คุณก็คงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจถึงคุณสมบัติที่คุณต้องการในแบลงค์ของคุณ หากคุณต้องการแบลงค์ที่ทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพในด้านความเบาและแรงดีดสูง แบลงค์ที่มีอัตราโมดูลัสสูงก็น่าจะเป็นแบลงค์ที่คุณควรเลือก หากเลือกแบลงค์ประเภทนี้คุณก็หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้งานมันอย่างระมัดระวังมากกว่าแบลงค์ที่ทำจากวัสดุที่มีอัตราโมดูลัสต่ำกว่า (แบลงค์ที่มีโมดูลัสสูงไม่ได้ “เปราะ” แต่เนื่องจากมันใช้วัสดุน้อยกว่าในการทำให้ได้ความแข็งที่ต้องการ มันก็เลยมีความทนทานน้อยกว่า) หากคุณต้องการแบลงค์ที่สามารถทนต่อการใช้งานอย่างสมบุกสมบันได้ คุณก็น่าที่จะหาแบลงค์ที่อาจจะมีโมดูลัสต่ำลงมาเพื่อที่จะได้ความทนทานมากขึ้นแต่คุณก็ต้องยอมรับที่จะสูญเสียความสามารถในการทำงานด้านแรงดีดลงไปบ้าง

ท้ายที่สุด อยากให้ทุกคนตระหนักว่า แบลงค์ที่สักแต่มีเบาและมีแรงดีดสูง อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับวิธีการตกปลาของนักตกปลาแต่ละคนที่ตกปลาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน การผสมผสานของกำลัง แอ็คชั่นและวัสดุที่ใช้ก่อให้เกิดผลในด้านความรู้สึกที่อาจจะแตกต่างกันและอัตราโมดูลัสอย่างเดียวคงจะไม่สามารถสนองตอบความรู้สึกได้ทุกรูปแบบ นักตกปลาบางคนจะใช้แต่คันเบ็ดที่มีอัตราโมดูลัสสูงสุดและมีน้ำหนักเบาที่สุดเท่านั้นในขณะที่นักตกปลาคนอื่นก็อาจจะใช้คันเบ็ดที่ทำจากวัสดุที่มีอัตราโมดูลัสต่ำกว่าแต่ก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานของเขาได้ ส่วนหนึ่งการของสร้างคันเบ็ดที่ดีที่สุดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลือกแบลงค์ที่จะสามารถทำงานได้ดีที่สุดภายใต้สภาวะที่กำหนดไว้และสำหรับนักตกปลาเฉพาะคน การซื้อแบลงค์ที่แพงที่สุดหรือทำจากวัสดุที่มีโมดูลัสสูงสุดไม่ใช่เป็นการรับประกันว่าคุณจะได้คันเบ็ดที่ดีที่สุด ยังไงๆ วัสดุที่มีโมดูลัสต่ำ ใยแก้วหรือแม้กระทั่งไม้ไผ่ก็ยังไม่ถึงกับตกยุคไปอย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่แต่ละฝ่ายมัวแต่เมามันอยู่กับการผลิตแบลงค์ที่มีโมดูลัสสูงที่สุดและมีน้ำหนักน้อยที่สุดสำหรับความแข็งระดับหนึ่งระดับใด หลายๆ คนก็เลยมองข้ามแอ็คชั่นที่แท้จริงและกำลังของแบลงค์ อยากแนะนำให้เลือกแบลงค์โดยการเลือกจากกำลังและแอ็คชั่นที่เหมาะกับการตกปลาในแบบที่คุณชอบเป็นอันดับแรก วัสดุที่ใช้และอัตราโมดูลัสควรจะเป็นข้อพิจารณาในอันดับรองลงมา คำว่าแอ็คชั่นหมายถึงอัตราความเรียวลงของแบลงค์หรือจุดที่แบลงค์จะโค้งตัวลงเมื่อมีแรงดึง

แบลงค์ Fast Action จะโค้งงอในช่วงปลายในขณะที่แบบ Medium จะมีการโค้งงอเกือบทั้งหมดอยู่ที่ประมาณจุดกลางของแบลงค์ แบลงค์แบบ Slow จะโค้งงอไปตลอดทั้งลำ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าแบลงค์แบบ Fast จะไม่มีการโค้งงอในช่วงโคนเลย การกำหนดแอ็คชั่นของผู้ผลิตจะเป็นการกำหนดจากความโค้งงอในระดับของการใช้งานปกติเท่านั้น แอ็คชั่นของคันมีความสำคัญต่อความสามารถในการเหวี่ยงเหยื่อและการต่อสู้กับปลา

กำลังของคันเบ็ดหมายถึงกำลังในการเหวี่ยงเหยื่อหรือสู้กับปลา เมื่อดูจากในแค็ตตาล็อคคุณก็จะเห็นว่ามีการระบุถึงกำลังของแบลงค์นั้นๆ ในลักษณะของการกำหนดน้ำหนักเหยื่อและขนาดสาย การเลือกแบลงค์ที่ต้องการก็เพียงแค่เลือกจากน้ำหนักของเหยื่อที่คุณจะใช้และขนาดของสาย เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ท้ายที่สุดก็มาถึงคำถามที่ว่าใครเป็นผู้ผลิตแบลงค์ที่ดีที่สุด  จริงๆ แล้วผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงทั้งหลายต่างก็น่าจะอยู่ในระดับที่พอๆ กัน จริงอยู่ที่ผู้ผลิตรายหนึ่งอาจจะมีกราไฟท์ที่มีโมดูลัสสูงกว่ารายอื่น หรืออาจจะมีเท็คนิคในการทำให้แบลงค์แข็งแรงทนทานกว่า แต่เชื่อว่าความแตกต่างคงจะมีน้อยจนไม่สามารถวัดได้ แนะนำว่าให้คุณเลือกแบลงค์ที่เหมาะกับความต้องการของคุณก็พอและอย่าได้เลือกแบลงค์โดยการดูที่ราคาแต่เพียงอย่างเดียว มีแบลงค์สุดยอดในราคาสูงลิ่วแต่ก็อย่าลืมว่าอาจจะมีแบลงค์ที่ดีถึงดีมากในราคาเพียงเสี้ยวหนึ่งของแบลงค์ที่ว่าสุดยอดนั้นก็เป็นได้

– อ่านต่อฉบับหน้า –

Credit : Tui A.D