เรื่อง ทำไมสายถึงตีเกลียว
ปัญหาที่อยู่คู่กับรอกสปินนิ่งมาตั้งแต่เกิดก็คือเรื่องสายเป็นเกลียว พอใช้ไปได้สักพักสายก็เริ่มหมดสภาพและต้องเปลี่ยนใหม่ในที่สุด
มันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแสนนาน ว่าปัญหาสายตีเกลียวที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร บ้างก็บอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มาจาก วงไกค์ที่ใช้ ยี่ห้อสายเอ็น การเหวี่ยงขึ้นไปสูงๆ การใช้ทุ่นในการตกปลา และปัญหาต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่มองข้ามไปในการตกปลา นั่นก็คือ อุปนิสัยในการใช้อุปกรณ์ตกปลา การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม ถ้าหากเรามั่นใจได้ว่า เรามีความชำนาญและดูแลอุปกรณ์ดีแล้ว
ในอดีต มีอยู่หลายครั้งที่ผู้เขียนได้นำคัน ไอซ์ร็อด ยาว 1 ฟุตครึ่ง (คันตกปลาโดยการเจาะน้ำแข็งลงไปตก) กับรอกเช็คสเปียร์ตัวจิ๋ว น่าจะเล็กกว่า BANAX TV 103 ใส่สายเบอร์ 25 ตราระฆัง นำออกมาตกปลายี่สกขนาด2-3โล ที่บ่อฟิชชิ่งปาร์คหลายแห่ง พบว่าปลากินดีมากกว่าใช้สายขนาดใหญ่
แต่ที่ต้องแลกมากับความสนุก นั่นก็คือ อาการสายตีเกลียวทั้งม้วน นั่นก็เกิดจาก
1 รอกตัวนี้เป็นรุ่นเก่า ตรงไลน?โรลเล่อร์ไม่มีระบบรีดช่วยลดอาการสายตีเกลียว ซึ่งก็ทราบอยู่แล้ว
2 ยี่ห้อสายเอ็นที่ใช้ ซึ่งก็ทราบอยู่แล้ว
3 ใช้รอกกับคันไม่มีความเหมาะสมเลย กับต้องสู้ปลาโดยการเปิดเบรกให้ฟรีตลอด เพราะระบบเบรคก็ไม่ดี หมุนไม่กี่รอบเบรกก็ติดขัดไม่นุ่มนวล ซึ่งก็ทราบอยู่แล้ว
แต่ ผู้เขียนก็ ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร อาศัยเปลี่ยนสายเอ็นบ่อยๆ จนกระทั่งคันเบ็ดชุดนี้ถูกมือดีมาฉกหายสาบสูญ การตกปลาแบบนี้ก็จบไป
เรามาค่อยๆ ดูกันว่าสายตีเกลียวได้อย่างไร เผื่อไปตกอยู่ในการร่วมวงสนทนากับเพื่อนตกปลา หรืออยากจะไปช่วยตอบคำถามตามหน้ากระดานต่างๆจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง
- อันดับแรกก็เริ่มต้นจากตอนกรอสายเข้ารอกเลย นักตกปลาแต่ละคนต่างก็จะมีกลวิธีในการกรอสายเข้ารอกที่แตกต่างกัน บ้างก็เอาสายผูกเข้ากับสปูลแล้วก็โยนหลอดสายเอ็นลงน้ำ บางก็เอาตะเกียบสอดรูแล้วก็ให้พรรคพวกช่วยถือไว้ให้ แต่ไม่ว่าจะทำวีธีไหนก็ดูเหมือนว่าสายมันก็ยังจะมีเกลียวอยู่
เวลาหมุนรอกสปิน สปูลจะต้องหมุนรอบตัวเอง (ส่วนมากจะหมุนเวียนขวา) ลองนึกภาพตามนะครับ หากสายเอ็นทอดตัวเข้ามาตรงๆ ไม่ได้มีการบิดหมุนไปในทางใด ก็เท่ากับว่าทุกๆ รอบที่รอกกว้านสายเข้ามาก็จะมีการหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบเท่ากับบิดเกลียวใส่สายเอ็นไปหนึ่งรอบเช่นกันในเมื่อตัวรอกเองเป็นตัวการที่บิดเกลียวใส่สายเอ็นแล้วเราจะแก้หรือลดปัญหาได้อย่างไร หลักการง่ายๆ ก็คือ หากรอกบิดเกลียววนขวา ท่านจะทำอย่างไรที่จะบิดเกลียวสายเอ็นให้วนไปซ้ายในอัตราเท่ากันเพื่อเป็นการหักลบวงเกลียวที่จะเกิดขึ้น
ลองมาดูวิธีการกรอสายเข้ารอกที่มักจะเห็นกันทั่วไป วิธีแรกคือการเอาหลอดสายเอ็นทิ้งลงไปในน้ำ วีธีนี้แม้ดูเหมือนว่าจะทำให้หลอดสายเอ็นอยู่เป็นอิสระแต่มันก็เท่านั้น มันไม่ได้ช่วยลดปัญหาเรื่องเกลียวเลยเพราะในขณะที่รอกกว้านสายเอ็นวนขวาไปเรื่อยๆ สายเอ็นเองก็คลายตัวออกจากหลอดแบบไม่มีรูปแบบ บางทีหลอดก็พลิกไปด้านโน้น พลิกไปด้านนี้ บางที่หลอดก็ไม่พลิกแต่ปั่นคลายสายออกมา สรุปแล้ว วิธีนี้ไม่ได้ช่วยเลย
วิธีต่อมาก็คือการเอาไม้สอดผ่านรูของหลอดสายเอ็นแล้วให้คนอื่นถือไว้ วิธีนี้ก็เช่นกัน เพราะมันเพียงทำให้การจับถือหลอดสายเอ็นสะดวกขึ้นเท่านั้น สายเอ็นทอดตัวเข้าสู่สปูลของรอกแบบตรงๆ ในขณะที่แขนกว้านก็หมุนเกลียวไปหนึ่งเกลียวทุกๆ รอบ
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หากท่านสามารถบิดเกลียวให้สายเอ็นในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการหมุนของแขนกว้าน ตามทฤษฏีแล้วท่านจะสามารถหักล้างเกลียวที่เกิดกับสายเอ็นได้ วิธีการง่ายๆ ก็คือ หากรอกหมุนวนขวา เราก็จัดการให้สายคลายตัวออกจากหลอดในทิศทางวนซ้าย ง่ายๆ แต่มักจะคิดไม่ถึง
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิธีการนี้จะสามารถหักลบเกลียวที่เกิดขึ้นได้ตามทฤษฏีแต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เส้นรอบวงของแกนสปูลและหลอดสายเอ็นนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้นอัตราการหมุนสวนทางกันจึงไม่ใช่อัตราที่เท่ากันร้อยเปอร์เซ็นต์ ในเมื่อไม่ได้หมุนบิดเกลียวสวนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ในแง่ปฏิบัติท่านจึงไม่สามารถหักลบเกลียวได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยวิธีนี้ก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
- การเกิดเกลียวเมื่อใช้งาน การหมุนของเหยื่อหรือชุดปลายสายสายถูกปลาดึงออกไปจากรอกและการกว้านสายเข้ามาในขณะที่มีปลาหรือน้ำหนักรั้งอยู่ที่ปลายสายทำให้อัตราการกรอสายเข้าเท่ากับศูนย์ (กรอสายไม่เข้าเพราะว่าเบรคคอยผ่อนสายออก) สิ่งเหล่านี้คือต้นเหตุของเกลียวในสายเอ็นทั้งสิ้น
เวลาเหยื่อหรืออุปกรณ์ปลายสายหมุนควง อย่างที่เห็น ก็คงจะเห็นได้ชัดว่าเกลียวเกิดแน่นอน บางท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้ว เพราะเหตุอันใด เวลาปลาดึงสายสวนเบรคออกไปจึงทำให้เกิดเกลียวได้
เวลาสายเอ็นถูกกรอเข้าเรียงตัวในสปูล จะเป็นการไปวงเรียงตัวเป็นวงกลม (วนซ้ายหรือวนขวา) แต่เวลาปลาดึงสายออกเป็นการดึงออกไปทางด้านข้างของสปูลโดยไม่ได้เป็นการออกไปในแบบคลายเกลียววนออกเหมือนกับตอนเปิดแขนกว้านแล้วตีสายออกไป สายเข้ารอกโดยมีการวนแต่ถ้าสายออกจากรอกโดยไม่มีการวนกลับ เกลียวก็เกิดแน่นอน
การเกิดเกลียวในกรณีเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีวิธีป้องกันเลย เหยื่อบางชนิดก็ต้องทำงานด้วยการหมุน เช่นเหยื่อสปูน เวลาปลาติดเบ็ดแล้วลากสายออกไปแม้จะทำให้เกิดเกลียวแต่เชื่อว่านักตกปลาต่างก็คงน่าจะพอใจและยินดีให้เกิด ขอให้ปลาติดเบ็ดก่อน สายจะเป็นเกลียวค่อยมาว่ากันทีหลัง
ถึงจะป้องกันไม่ได้แต่ก็วิธีช่วยลดจำนวนเกลียวที่เกิดขึ้นได้เพื่อช่วยยืดอายุสาย วิธีการง่ายๆ ก็คือการปล่อยให้สายคลายเกลียวเอง แต่ตราบใดที่สายยังขดตัวอยู่ในสปูลสายก็ไม่สามารถคลายเกลียวได้ หากอยู่ในเรือให้ใช้วิธีปล่อยสายเปล่าๆ ไปทางท้ายเรือ ยิ่งปล่อยออกไปยาวเท่าไรเราก็จะสามารถคลายเกลียวได้มากขึ้นเท่านั้น มีข้อควรระวังคืออย่าวิ่งเรือด้วยความเร็วสูงเพราะในขณะที่สายระน้ำอยู่หากเรือวิ่งด้วยความเร็วสูงก็จะมีแรงดึงที่สายมาก เวลากว้านสายกลับมาก็ต้องกว้านสวนกับแรงดึง สายจะยืดตัวมาก หากเป็นรอกที่มีคุณภาพไม่ดีนัก เผลอๆ สปูลถึงกับพังเพราะแรงรัดตัวของสายเอ็นได้ ควรปล่อยสายไปแล้ววิ่งเรือด้วยความเร็วต่ำๆ สักพักใหญ่ๆ เพื่อให้สายได้คลายเกลียวแล้วจึงกรอสายกลับ
หากไม่ได้อยู่ในเรือแต่อยู่บนสะพานก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในเรือหรืออยู่บนสะพานก็คงต้องใช้วีธีป้องกัน นั่นก็คือ ลดโอกาสที่จะปล่อยสายออกจากรอกโดยไม่ได้วนออก ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตีเหยื่อไปแล้วและจะวางคัน หากยังต้องการปล่อยสายเพิ่มเติมไปอีก ให้ใช้วิธีเปิดหน้ารอกแล้วปล่อยสายไป อย่าใช้วิธีดึงสายสวนเบรคออกไป เวลาสู้ปลาก็ให้ใช้วิธีอัดแล้วหมุนเก็บสายในขณะที่ลดคันลง อย่าหมุนแขนกว้านหากมีแรงดึงที่สาย
ปัจจุบันนักตกปลาจะได้พบเห็นการโฆษณาของรอกยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ว่ามีโรลเลอร์ป้องกันสายเป็นเกลียว ขอให้ไปอ่านคู่มือประจำรอกให้ดีๆ ในกรณีของรอกที่มีชื่อเสียงและอาจจะเป็นเรื่องข้อหาหลอกลวงลูกค้า ในคู่มือก็จะมีการพูดถึงการไม่ให้หมุนรอกในขณะที่มีแรงดึงที่สาย (หมุนสวนเบรค)
ส่วนรอกที่มีระบบช่วยลดกันสายตีเกลียวจะมีคำพวกนี้อยู่ ลองมองหาก่อนการเลือกซื้อได้
– Resist Twist Line Roller
– Anti-Twist Titanium Line Roller
– Twist Free roller
– Twist Buster
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ไม่มีรอกสปินยี่ห้อใดหรือรุ่นใดที่มีความสามารถในการป้องกันสายตีเกลียวได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นครับ คงจะคลายปัญหากันไปได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่จะขอแนะนำเพิ่มเติม ในเรื่องบทสรุปเบื้อต้นของการหนีปัญหาเรื่องสายเอ็นตีเกลียวในทางปฏิบัติ สำหรับรอกสปินนิ่งนั้นมีดังนี้
- เลิกนิสัย สู้ปลา โดยการคลายเบรกออกเยอะๆ แล้วสู้ปลาโดยให้เบรกฟรี
- ใช้สายไดนีม่า เพื่อแก้ปัญหาโดยตรง
- พยายามเปลี่ยนสายเอ็นที่ใช้ให้บ่อยขึ้น
- ถ้าหากจะมีการเหวี่ยงเหยื่อปลอมเช่นสปูน และสปินเนอร์เบทในบางครั้ง ให้ใช้สายเอ็นที่มีราคาถูกลง และเปลี่ยนทันที เมื่อจบทริปดังกล่าว
- เปลี่ยนไปใช้รอกเบทคาสติ้ง
- เปลี่ยนไกค์คันเบ็ดให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
ถ้ายังสงสัย อ่านซ้ำอีกรอบครับ แล้วคำถามที่ ทำไมสายต้องตีเกลียว และจะแก้การตีเกลียวของสายได้อย่างไร อาจจะช่วยคลายความสงสัยให้คนรอบข้างคุณได้
Credit : Tui A.D